คัมภีร์อึ่งตี่อิมฮู้เกง (黃帝陰符經) เรียกย่อ ๆ ว่า อิมฮู้เก็ง เป็นคัมภีร์โบราณที่เกี่ยวกับศิลปวิทยาการ ในเรื่องปรัชญาและการรบ ซึ่ง กิวเทียน เนี่ยเนี้ย ได้นำมาสอนแก่กษัตริย์อึ่งตี่
คัมภีร์อิมฮู่เก็ง จัดเป็นหนึ่งในคัมภีร์สำคัญ ๆ ของศาสนาเต๋า อันได้แก่ เต๋าเต็กเก็ง และ หน่ำฮั้วเก็ง
ในสมัยราชวงศ์ถัง มีบุคคลหนึ่งชื่อว่า หลี่ช้วง (李荃) ไม่ทราบประวัติที่แน่ชัด หลี่ช้วงได้อธิบายว่า คัมภีร์อิมฮู้เก็ง นี้ ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ อิม (陰) หมายถึง มืด แต้จิ๋วเรียกว่า "อ่ำ" ส่วนคำว่า ฮู้ (符) หมายถึง รวมประสาน แต้จิ๋วเรียกว่า "ฮะ" ดังนั้น ฟ้าได้ประทานสิ่งนี้ เพื่อให้ดำเนินเรื่องราวต่าง ๆ ให้เป็นไปตามโองการแห่งฟ้า จึงเป็นที่มาของชื่อคัมภีร์นี้
นักปราชญ์หลายท่านได้วิจารณ์คัมภีร์นี้แตกต่างกันไป บางทรรศนะเห็นว่า คำอธิบายมุ่งไปทางการศึกรบ บางทรรศนะเห็นว่า เป็นบทประพันธ์ของนักพรตเต๋า บางทรรศนะเห็นว่า เป็นคัมภีร์เต๋าที่มุ่งเน้นไปทางการบำเพ็ญตนเพื่อให้เสริมปราณ,เลี้ยงชีพ ยิ่งไปกว่านั้น บางทรรศนะกลับเห็นว่า เป็นบทที่ประพันธ์โดยศาสนิกชนของศาสนาขงจื้อ
คัมภีร์นี้มีตัวอักษรทั้งสิ้น 457 ตัว แบ่งออกเป็น 3 ตอน
ตอนที่ 1 神仙抱一 : 演道章第一
เป็นหลักว่าด้วย วิธีการรวมประสาน มนุษย์และเทวดา ด้วย ธรรมะแห่งเต๋า
ตอนที่ 2 富國安民 : 演法章第二
เป็นหลักว่าด้วย การนำมาซึ่งสันติสุขแห่งมนุษยประเทศ
ตอนที่ 3 彊兵戰勝 : 演術章第三
เป็นหลักว่าด้วย ยุทธวิธีให้พลรบแข็งแกร่ง รบชนะศึก